กรมพัฒนาที่ดิน “ขุดบ่อจิ่วฟรี” ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 45,000 บ่อ

0
1540

กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน “บ่อจิ๋ว” ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 45,000 บ่อ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ทำการเกษตรในช่วงแล้ง ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างโปร่งใส เป็นธรรม

วัตถุประสงค์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ กรมพัฒนาที่ดินจัดทำโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยการขุดสระน้ำในไร่นา ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร และให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาท/บ่อ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการบรรเทาสภาพปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพ การเก็บกักน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร เพื่อเกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทานได้มีแหล่งน้ำที่เหมาะสม กับการเกษตร เป็นการสนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ภาพประกอบเท่านั้น

สำรวจและรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่มีความต้องการสระน้ำ

สำรวจความต้องการของเกษตรกรที่มีความสนใจแจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ ซึ่งเกษตรกรจะต้องกรอกรายละเอียดความต้องการลงในใบสมัคร และเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดิน จะเรียงลำดับความต้องการเป็นข้อมูลรวบรวมเก็บไว้

ภาพประกอบเท่านั้น

เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ
1 พื้นที่ขุดสระน้ำ จะต้องเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่เกษตรกรเป็นเจ้าของและมีเอกสารสิทธิ์ และมีหนังสือยินยอมให้เข้าดำเนินการขุดสระน้ำ
2. เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขุดสระน้ำ เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าขนย้ายเครื่องจักรกล จำนวน 2,500 บาทต่อบ่อ ให้ผู้รับจ้าง
กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดิน ตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ขุดสระน้ำ และความพร้อมของ
เกษตรกร

ภาพประกอบเท่านั้น

การคัดเลือกเกษตรกร

1. คัดเลือกเกษตรกรจากแผนความต้องการสระน้ำที่เกษตรกรได้มายื่นความจำนงไว้แล้ว โดยนำความต้องการของเกษตรกรที่มาแจ้งความจำนงในการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นา พิจารณาความสำคัญจากจังหวัดที่มีความต้องการมาก มาพิจารณากำหนดเป้าหมายและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
2. สถานีพัฒนาที่ดินและหมอดินอาสาประจำตำบล/หมู่บ้าน สำรวจศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของเกษตรกรที่แจ้งความต้องการขุดสระน้ำไว้แล้ว
2.1 เกษตรกรมีความตั้งใจประกอบอาชีพทางการเกษตร มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ และสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขุดสระน้ำ บ่อละ 2,500 บาท
2.2 เกษตรกรเป็นเจ้าของพื้นที่ก่อสร้างที่ใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร มีเอกสารสิทธิ์ และหนังสือยินยอมให้เข้าดำเนินการก่อสร้าง

ภาพประกอบเท่านั้น

การคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย

1. พื้นที่ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ต้องเป็นของเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองที่ดิน หรือเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน โดยต้องมีหลักฐานเอกสารสิทธิ์ที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ออกให้ ได้แก่ โฉนด น.ส.3 น.ส.3 ก. น.ส.2 น.ส.2 ก. ส.ป.ก. 4-01 ส.ป.ก.4-14 ส.ป.ก.4-18 น.ค.3 ก.ส.น.5 ส.ค.1 คทช. และพื้นที่โครงการพระราชดำริ ที่มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร สำหรับ น.ส.2 และ น.ส.2 ก. ต้องมีการตรวจสอบ ดังนี้ 1.1) ผู้มีความประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการขุดสระน้ำ ต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้มีสิทธิตามเอกสารสิทธิในที่ดินประเภทใบจอง เว้นแต่กรณี ผู้มีสิทธิดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว ผู้รับมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายอาจเป็นผู้ยื่นคำขอดังกล่าวแทนได้ (เอกสารสิทธิประเภทใบจองไม่สามารถทำการซื้อขายหรือให้โดยเสน่หาได้) 1.2) ต้องมีการตรวจสอบว่าผู้รับใบจองหรือผู้รับมรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวแล้วจริง
2. เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ขาดแคลนระบบที่จะจัดส่งน้ำไปถึงได้ตลอดปี และประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำ หรือแล้งซ้ำซาก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ หรือสอบถามเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานในพื้นที่ โดยสถานีพัฒนาที่ดิน ควรจะมีการทำรายงานบันทึกข้อสังเกตไว้
3. คัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานตามเงื่อนไขของโครงการ เป็นลำดับแรก คือเป็นพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของดิน หลีกเลี่ยงพื้นที่เป็นดินทรายจัด พื้นที่เกลือขึ้นเป็นดินเค็ม พื้นที่ซึ่งมีก้อนหินขนาดใหญ่ ซึ่งหากก่อสร้างไปจะทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้นาน และคุณภาพน้ำไม่ดี และควรพักการปลูกพืช เพื่อความสะดวกในการเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง โดยเจ้าหน้าที่บริษัทผู้รับจ้างร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินและหมอดินอาสา จะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ที่คัดเลือกและสอบถามเกษตรกร
4. พื้นที่ดำเนินการควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 30 x 40 ตารางเมตร โดยจะใช้ก่อสร้างสระอย่างน้อย 20 x 30 x 2.1 เมตร เพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้โดยสะดวก และสามารถทำการเกลี่ยดิน ตกแต่งคันบ่อได้อย่างเรียบร้อย
ทั้งนี้ พื้นที่ดำเนินการควรมีการจัดกลุ่มเป้าหมายการจัดสรรพื้นที่ก่อสร้างให้มีขนาดของกลุ่มและการกระจายตัวของสระเก็บน้ำให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการเครื่องจักรกล ได้แก่ การจัดชุด เครื่องจักรกลเข้าทำงาน การเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลให้มีขนาดเหมาะสมกับระดับเศรษฐกิจ (Economy of Scale) ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินการที่ทันเวลา และคุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งในเขตพัฒนาที่ดินและยุทธศาสตร์จังหวัดอย่างสัมฤทธิ์ผล

ภาพประกอบเท่านั้น

ที่มาและอ่านเพ่ิ่มเติมได้ที่ : กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด ทั่วประเทศ